Author Archives: th.watsadu

วิธีเลือกซื้อปูนซีเมนต์ ตอนที่ 3 "ปูนซีเมนต์สำเร็จรูป" (มอร์ตาร์)


วิธีเลือกซื้อปูนซีเมนต์ ตอนที่ 3 “ปูนซีเมนต์สำเร็จรูป” (มอร์ตาร์)

 

สวัสดีค่ะ 🙏
มาถึงคิวของ “ปูนมอร์ตาร์” อย่างที่ได้ที่เกริ่นไว้ใน EP. ที่แล้วนะคะ

ปูนมอร์ตาร์ บางคนเรียกว่า “ปูนซีเมนต์สำเร็จรูป” คำว่าสำเร็จรูป ให้เรานึกถึงมาม่า คือปรุงสำเร็จตั้งแต่ในซอง เพียงแค่ฉีกซอง เทน้ำร้อน ก็กินได้เลย ปูนมอร์ตาร์ก็เช่นกัน แค่ฉีกถุงปูน เทใส่อ่างผสม เติมน้ำตามสัดส่วนที่ระบุไว้ข้างถุง คนผสมให้เข้ากันก็เอาไปใช้งานได้เลย

 


จุดประสงค์หลักของปูนชนิดนี้
คือความสะดวก ง่าย ลดเวลาการทำงาน ที่สำคัญคือช่วยประหยัดพื้นที่ในการกองเก็บวัสดุ ปูน หิน ทราย เหมาะกับคนเมืองที่มีพื้นที่บ้านจำกัด ไม่ต้องไปเทหิน เททราย กองไว้ เพราะอาจจะรบกวนบ้านใกล้เรือนเคียง หรือเดือดร้อนต้องไปเคลียร์กับเทศกิจ หากทรายที่เราเทกองไว้ฝนตกแล้วไหลไปอุดท่อระบายน้ำ 😓

 

คุณสมบัติของปูนมอร์ตาร์

ปูนมอร์ตาร์ ส่วนผสมหลักคือปูนซีเมนต์ และทราย บางชนิดอาจมีการใส่ผงหินลงไปด้วย นำมาผสมกับสารปรุงแต่งพิเศษ ในอัตราส่วนที่เหมาะสม

ปูนมอร์ตาร์ มีหลายสูตรตามลักษณะการใช้งาน อาทิ..งานก่อทั่วไป งานก่ออิฐมวลเบา งานฉาบทั่วไป งานฉาบละเอียด งานฉาบอิฐมวลเบา หรือแม้กระทั่งงานเทพื้น งานคอนกรีต เป็นต้น


ปูนมอร์ตาร์มีคุณสมบัติ การใช้งานเทียบเท่ากับปูนซีเมนต์ผสม ต่างกันตรงที่ ปูนซีเมนต์ผสม เป็นปูนซีเมนต์เอนกประสงค์ที่ก่อนนำไปใช้ ต้องนำไปผสมทราย น้ำ หรือหิน ตามสูตรที่ช่างคำนวณเสียก่อน เช่น ถ้านำไปผสมกับทรายละเอียด จะเอาไปใช้สำหรับงานฉาบ ถ้านำไปผสมกับทรายหยาบ ก็ใช้สำหรับงานก่อ-เท หรือเอาไปผสมกับหิน จะนำไปใช้ในงานเทพื้นทั่วไป ฯลฯ ส่วนปูนมอร์ตาร์นั้น จะถูกแบ่งตามชนิดการใข้งานอย่างชัดเจน ทำแยกสูตรสำเร็จรูปมาจากโรงงาน พร้อมระบุข้างถุงมาเลย ว่าสูตรนี้ใช้กับงานอะไร ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ได้เลย

 


ตลาดปูนมอร์ตาร์

ปูนมอร์ตาร์ ปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ที่ทำออกมากลุ่มแรกคือ กลุ่มปูนโรงใหญ่ อย่างเครือซีเมนต์ไทย (SCG) ปูนซีเมนต์นครหลวง ทีพีไอโพลีน หรือปูนซีเมนต์เอเชีย ปูนที่ได้จากผู้ผลิตในกลุ่มนี้ จะเกิดจากการระเบิดภูเขา ระเบิดหิน แล้วนำมาบดโม่ ให้ได้เป็นผงปูนออกมา


ส่วนในกลุ่มที่ 2 จะเป็นปูนที่ได้จากการผลิตของบริษัทรายย่อย ซึ่งจะซื้อผงปูนมาจากปูนโรงใหญ่อีกทีหนึ่ง แล้วนำมาผสมกับทรายบด เติมสารเคมีบางชนิดตามสูตรเฉพาะของแต่ละที่ โดยสูตรดั้งเดิมมักนำมาจากต่างประเทศ เอามาปรับเปลี่ยนพัฒนาให้เหมาะกับลักษณะการใช้งาน

บางแบรนด์เด่นเรื่องปูนก่อ บางแบรนด์เด่นเรื่องปูนฉาบ บางแบรนด์ผลิตปูนมาแบบเดียวเลยก็มี มุ่งพัฒนาสูตรเคมีเฉพาะ จนได้ปูนที่มีประสิทธิภาพเหนือคู่แข่ง กินส่วนแบ่งการตลาดไปเป็นจำนวนมาก

บริษัทรายย่อยเหล่านี้ จำนวนปูนมอร์ตาร์ที่ผลิตออกมารวมๆ แล้วมากว่าปูนโรงใหญ่เสียอีก

ข้อได้เปรียบ คือบริษัทเหล่านี้สามารถซื้อผงปูนจากใครก็ได้ จะซื้อผ่านเอเย่นต์ หรือซื้อตรงกับโรงปูนเลยก็ได้ ถ้ามองในแง่ของการตลาด จะเรียกว่าเป็นคู่แข่งก็ใช่ หรือถ้าจะมองว่าเป็นพันธมิตรก็ไม่ผิด เรียกว่า “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า”


ปูนมอร์ตาร์
จะมีทั้งแพ็คเก็จ แบบ 50 Kg. 40 Kg. 20 Kg. แบบ 4 Kg. ก็มีแต่จะทำเป็นกระป๋อง


ราคาที่แลกมากับเวลา และความสะดวกสบาย

ปูนมอร์ตาร์ ถ้าเทียบกับปูนซีเมนต์ผสม จะมีราคาสูงกว่าหากวัดจากปริมาณงานที่ได้ ยกตัวอย่างเมื่อนำปูนผสม 1 ถุง มาผสมทรายและหิน อาจจะเทพื้นได้ประมาณ 1 – 2 ตารางเมตร ในขณะที่เมื่อเรานำปูนมอร์ตาร์ 1 ถุง มาผสมน้ำแล้วเทพื้น อาจจะได้ไม่ถึง 1 ตารางเมตร จึงถือเป็นราคาที่แลกมากับเวลาและความสะดวก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหน้างานด้วย ถ้านำปูนมอร์ตาร์ ไปใช้กับการสร้างบ้าน หรือโครงการใหญ่ๆ งบที่ใช้บานปลายแน่นอน

 

ประเภทของปูนมอร์ตาร์

ปูนมอร์ตาร์ จำแนกตามลักษณะการใข้งานได้ดังนี้
1. ปูนกาว (กาวซีเมนต์) ใช้สำหรับงานปูกระเบื้อง ทั้งกระเบื้องปูพื้น และกระเบื้องติดผนัง แยกย่อยออกมาเป็นกระเบื้องแผ่นเล็ก แผ่นใหญ่ งานปูทับพื้นเดิม หรืองานปูกระเบื้องสระว่ายน้ำ อีกทั้งยังมีเคมีภัณฑ์ที่ใช้กับงานซ่อมแซม งานอุดรอยรั่ว ยึดติดขอบกระเบื้อง เป็นต้น


2. ปูนฉาบสำเร็จ ใช้สำหรับงานฉาบผนัง จะมีทั้งแบบฉาบหยาบ และแบบฉาบละเอียด งานฉาบหยาบเป็นงานที่ไม่ต้องการความเรียบร้อยมาก เป็นการฉาบเพื่อปกปิดวัสดุก่อต่างๆ ส่วนงานฉาบละเอียด (Skim Coat) จะเป็นปูนที่เอาไว้ฉาบทับอีกทีหนึ่ง เพื่อให้พื้นผิวเรียบร้อยเส,อกัน ปูนแบบฉาบละเอียดจะมีราคาสูงกว่า เพราะมีการใส่ทรายที่ละเอียดมากกว่า ให้คุณภาพของงานที่เนี้ยบกว่า

3. ปูนใช้สำหรับงานก่อสำเร็จ อาทิ..ก่อผนังอิฐ ก่ออิฐมอญ อิฐบล็อก คอนกรีตบล๊อก ปูนชนิดนี้จะรับน้ำหนักได้ดีกว่าปูนมอร์ตาร์ชนิดอื่น และมีน้ำหนักในตัวมากกว่าด้วย เนื่องจากต้องการความแข็งแรงเป็นพิเศษ

4. ปูนฉาบอิฐมวลเบา ใช้สำหรับงานฉาบที่มีโครงสร้างเป็นผนังอิฐมวลเบาโดยเฉพาะ เพราะคุณสมบัติของอิฐมวลเบาการซึมน้ำจะไม่ดีเท่าอิฐมอญ การยึดเกาะจึงน้อกว่าอิฐมอญ ไม่สามารถใช้ปูนธรรมดาฉาบได้ เพราะอาจทำให้เกิดการแตกร้าว


5. ปูนก่ออิฐมวลเบา ใช้สำหรับงานก่อที่มีโครงสร้างผนังเป็นบล็อกผนังเบาโดยเฉพาะ

6. ปูนเทปรับระดับ ใช้สำหรับงานปรับเทพื้น ปรับความสูงของหน้าพื้นผิวให้มีระดับสูงขึ้น อาจะทำให้พื้นผิวเรียบเสมอกัน เช่นปรับพื้นภายในบ้านให้เรียบเสมอกันก่อนปูกระเบื้อง หรือปรับพื้นของโรงรถเป็นต้น แต่การปรับระดับโดยใช้ปูนซีเมนต์ชนิดนี้ นิยมปรับระดับเพียงเล็กน้อยไม่เกิน 10-30 มม.

7. คอนกรีตแห้ง ใช้สำหรับงานโครงสร้าง เป็นปูนที่รับแรงอัดได้สูงกว่าปูนปกติทั่วไป ใช้ทดแทนปูนปอร์ตแลนด์ แบ่งออกตามแรงรับกำลังอัดที่ประมาณ 240 st สามารถนำไปเทพื้นเสา คานบ้าน หรือเททำที่จอดรถทั่วไป เป็นต้น

เลือกปูนที่เหมาะสมที่สุด คือดีที่สุด

ปูนมอร์ตาร์ โดยทั่วไปคุณภาพการใช้งาน ค่อนข้างมีความเสถียรตามมาตรฐานของผู้ผลิตแต่ละรายอยู่แล้ว ด้วยมีการตัดตัวแปรของหินหรือทรายที่เกี่ยวข้องกับการผสมออกไป ปูนมอร์ตาร์ถูกคาดการณ์ว่าในอนาคตจะมีสัดส่วนการตลาดที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปูนซีเมนต์ผสม สอดคล้องกับการพัฒนาของตัวเมืองที่ขยายออกไปอย่างต่อเนื่อง

ถึงแม้ว่าปูนมอร์ตาร์จะมีหลายหลายชนิด หลายยี่ห้อ แต่หากมองในแง่การใช้งาน แค่รู้ว่าเราต้องการนำไปใข้งานแบบไหน

ผู้ซื้อก็จะตัดสินใจเลือกปูนได้ง่ายขึ้น

สำหรับตัวผุ้เขียน ขอฝากข้อคิดไว้ซักนิดที่ว่า

“การหาของที่มีคุณภาพ เราอาจต้องการของที่ดีที่สุด แต่ในงานวัสดุก่อสร้าง สิ่งที่ดีและเป็นไปได้ คือการหาของที่เหมาะสมที่สุดต่างหาก”

พบกันใหม่ EP. หน้านะคะกับเรื่อง “คอนกรีตผสมเสร็จ”

วิธีเลือกซื้อปูนซีเมนต์ ตอนที่ 2 "ปูนผสม"

วิธีเลือกซื้อปูนซีเมนต์ ตอนที่ 2 “ปูนผสม”

 

🙏สวัสดีค่ะ….

กลับมาพบกันอีกแล้วนะคะ Ep. นี้

เรามาว่าด้วยเรื่องของปูนซีเมนต์กันต่อ อย่าเพิ่งเบื่อนะคะ 😅

ในตอนที่แล้วเราไปทำความรู้จัก ปูนปอร์ตแลนด์ ถึงลักษณะการใช้งาน ผู้ผลิตรายใหญ่ๆในประเทศไทย และยังทิ้งท้ายถึงวิธีการเลือกปูนที่ดี

จะเลือกยังไงให้เหมาะกับงานกันไปแล้ว

มาถึง EP. นี้ เราจะไปรู้จักปูนอีกประเภทหนึ่งที่ใช้สำหรับงานทั่วไปกันบ้าง เป็นปูนที่ช่างยังไงก็จำเป็นต้องใช้ ปูนประเภทนี้จะเกี่ยวข้องกับงานของเรายังไงไปดูกันเลยค่ะ 🙂
ว่าด้วยเรื่อง “ปูนซีเมนต์ผสม”

 

ปูนซีเมนต์ผสม ต่างจากปูนปอร์ตแลนด์ยังไง?

ปูนซีเมนต์ผสม เราจะไม่นำมาใช้ในงานโครงสร้าง แต่จะใช้กับงานทั่วไป…

ถามว่าอะไรที่เรียกว่างานทั่วไป ก็จำพวก งานก่อ งานฉาบ งานเท เป็นงานที่รับแรงอัดต่ำกว่าปูนปอร์ตแลนด์

ปูนซีเมนต์ผสมจะมีราคาถูกกว่าปูนปอร์ตแลนด์ในแบรนด์เดียวกัน มีทั้งแบบ 50 kg. และแบบ 40 kg.

ปูนซีเมนต์ผสมแบบ 50 กิโลกรัม

ปูนชนิดนี้เป็นปูนที่มีการแข่งขันในท้องตลาดสูง จะเรียกว่า Fighting Brand ก็ได้

ด้วยอัตราการแข่งขันที่สูงทำให้ผู้ผลิตบางเจ้า มีการปรับสูตรปูน ทำให้ให้เป็น Premium มากขึ้น เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง

โดยวิธีที่นิยมคือ การเติมสารบางตัวลงไปเพิ่มประสิทธิภาพปูน เช่น ทำให้ฉาบลื่นขึ้น เหนียวนุ่มขึ้น บางแบรนด์มีการใส่สารเคมีบางชนิด ทำให้เนื้อปูนมีอนุภาคละเอียดมากขึ้น อุ้มน้ำสูงขึ้น หรือบางแบรนด์มีการพัฒนาเนื้อปูนให้มีกำลังอัดสูงขึ้น เพื่อให้ได้คุณภาพใกล้เคียงปูนปอร์ตแลนด์ไปเลยก็มี

 


แต่ในทางกลับกัน นอกจากการปรับให้เป็นพรีเมี่ยมแล้ว หลายๆ เจ้ายังมีการปรับสูตรปูนให้มีราคาถูกลง เจาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการลดต้นทุนการก่อสร้าง ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทุกรูปแบบ เรียกว่าตลาดปูนซีเมนต์ มีการแข่งขันรุนแรงไม่แพ้ตลาดอื่นๆ

ปูนซีเมนต์ผสมที่บริษัทหนึ่งทำออกมา มักจะทำออกมามากกว่า 1 ยี่ห้อ และตามร้านวัสดุก่อสร้างทั่วไป ก็จะเอามาขายหลายยี่ห้อเพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า

 


ปูนซีเมนต์ผสมแบบ 40 กิโลกรัม

ปูนชนิดนี้ ในท้องตลาดจะเรียกว่า “ปูนซูเปอร์”

บริษัทแรกที่ทำปูนซูเปอร์ออกมาคือ เครือซีเมนต์ไทย หรือ SCG

โดยยี่ห้อแรกคือ ปูนเสือซูเปอร์ แต่อย่างที่รู้กันวงการปูนก็เหมือนวงการสินค้าอื่นๆ พอมีเจ้านึงทำออกมา เจ้าอื่นๆ ก็จะทำตาม

ตามหลักทฤษฎี Me to คือเมื่อคุณมี ผมก็ต้องมี จะไม่มีก็ไม่ได้

พอมีปูนเสือซูเปอร์ ก็ตามมาด้วย ปูนนกซูเปอร์ TPI เขียวซูเปอร์ ดอกบัวซูเปอร์ ราชสีห์ซูเปอร์ และเจ้าอื่นๆก็พากันมีปูนตระกูลซูเปอร์ออกมาอีกเป็นพรวน

โดยราคาปูนซูเปอร์ หรือปูน 40 kg. จะถูกกว่าปูน 50 kg. ประมาณ 10-15 %


บริษัทผู้ผลิตต่างพากันเคลมว่าปูนซูเปอร์ สามารถนำไปใช้งานได้ดีเทียบเท่าปูน 50 kg. ไม่ว่าจะใช้ในงานก่อ งานฉาบ งานเทต่างๆ แต่จริงๆ แล้วก็ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่า มันใช้งานได้เท่ากันจริงหรือไม่

เพราะการมีเนื้อปูน เพียง 40 kg. ยังไงก็ต้องใส่ทรายเพิ่มขึ้น กับราคาที่ต่างกันประมาณ 10% แต่เนื้อปูนที่ได้กลับลดลงถึง 20% โรงปูนก็มีกำไรมากขึ้น จึงเป็นเรื่องปกติที่แต่ละบริษัทจะพยายามดันขายปูนชนิดนี้ และเคลมว่าดี

แต่ยังไงก็ยังมีแรงต้านจากช่าง หรือคนทั่วไปที่พอคำนวณออกมาแล้วเชื่อว่ายังไง ปูน 40 kg. ก็ไม่มีทางสู้ปูน 50 kg. ได้
ตลาดปูนซีเมนต์ผสม แบ่งตามบริษัทผู้ผลิต

 

กลุ่มเครือซีเมนต์ไทย (SCG)

– ปูนชนิด 50 kg. ได้แก่ ปูนเสือ ปูนแรด

– ปูนชนิด 40 kg. ได้แก่ ปูนเสือซูเปอร์

กลุ่มปูนทีพีไอโพลีน

– ปูนชนิด 50 kg. ได้แก่ ปูนทีพีไอเขียว ปูนทีพีไอ 197

– ปูนชนิด 40 kg. ได้แก่ ปูนทีพีไอเขียวซูเปอร์

กลุ่มปูนซีเมนต์นครหลวง

– ชนิด 50 kg. ได้แก่ ปูนอินทรีแดง ปูนอินทรีเขียว

– ชนิด 40 kg. ได้แก่ ปูนอินทรีซูเปอร์

กลุ่มปูนซีเมนต์เอเชีย

– ชนิด 50 kg. ได้แก่ ปูนดอกบัวเขียว

– ชนิด 40 kg. ได้แก่ ปูนดอกบัวซูเปอร์

บริษัทภูมิใจไทยซีเมนต์

– ชนิด 50 kg. ได้แก่ ปูนราชสีห์เขียว

– ชนิด 40 kg. ได้แก่ ปูนราชสีห์ซูเปอร์

 

ควรเลือกปูนซีเมนต์ผสม แบรนด์ใดในท้องตลาด

เราจะเห็นว่าผู้ผลิตปูนซีเมนต์ 5 บริษัทหลักๆ ออกผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ผสมรวมๆ กันแล้วเกือบ 20 ยี่ห้อ ผู้บริโภคอย่างเราก็คงไม่แปลกที่จะสับสน ลังเล เลือกไม่ถูก

ถ้าถามความเห็นของผู้เขียน หากมีงบสูงๆ หรือมีงบประมาณไม่จำกัด แนะนำให้เลือกของเครือซีเมนต์ไทย (SCG) ไปเลยค่ะ อาจจะใช้เป็น ปูนเสือใหญ่ 50 kg. รองลงมาก็จะเป็น ปูนอินทรีแดง ตัวนี้ก็ดีเป็นตัวที่มีการปรับสูตรให้เป็นพรีเมี่ยม คือถ้าพูดถึง เสือกับนก คุณภาพจะใกล้เคียงสูสีกัน

แต่ถ้าใครต้องการประหยัดงบลงมาหน่อย จะเลือกเป็น ปูน TPI เขียว ดอกบัวเขียว หรือราชสีห์เขียว ก็ยังน่าใช้ถือเป็นปูนที่มีคุณภาพดี

 


สรุปว่า…หากคุณจะสร้างบ้าน ในส่วนของเมนหลักของบ้าน นอกเหนือจากการตบแต่ง ยังไงผู้เขียนก็เชียร์ปูน 5 แบรนด์หลักที่กล่าวมาแล้วข้างต้นค่ะ เพราะอย่างน้อยเราก็มั่นใจได้ส่วนหนึ่งว่าทุกตัวมี มอก.รับรองคุณภาพ แต่ถ้าเป็นแบรนด์อื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ผู้เขียนไม่ค่อยแนะนำ เพราะถ้าบ้านเราพัง เราจะไปเคลมกับใคร

เอาล่ะค่ะ 2 EP. ผ่านไปกับเรื่องปูนปอร์ตแลนด์ และปูนผสม พอจะเริ่มเก็ทกันบ้างหรือยังคะ ไหนๆก็มาทางสายปูนแล้ว EP. 3 ขอต่อเรื่อง “ปูนมอร์ตา” เลยนะคะ ให้จบเป็นเรื่องๆไป

“ปูนมอร์ตา” เป็นยังไง ? เอาไปใช้งานอะไรได้บ้าง ?

โปรดติดตามตอนต่อไป…


วิธีเลือกซื้อปูนซีเมนต์ ตอนที่ 1 "ปูนปอร์ตแลนด์"

 

วิธีเลือกซื้อปูนซีเมนต์ ตอนที่ 1 “ปูนปอร์ตแลนด์”

 


สวัสดีค่ะ…

ถ้าพูดถึงเรื่องของวัสดุก่อสร้างในมุมของคนที่เป็นช่าง หรือคนที่คลุกคลีอยู่ในวงการนี้ อาจจะมองว่าเป็นเรื่องง่ายไม่เห็นจะมีไรซับซ้อนเลยซักนิด

แต่ในมุมมองของคนทั่วไปล่ะคะ คนที่กำลังจะสร้างบ้าน จะซ่อมโน่นรื้อนี้ หรือคนที่นานๆ จะต้องเข้าไปข้องแวะกับวงการนี้สักที มันคงจะไม่ง่ายนักใช่มั้ยคะ ไม่ต้องอะไรมากมายค่ะ แค่เรื่องปูนซีเมนต์อย่างเดียวก็เริ่มจะ…งงแล้ว 🤔🙄❓

 

ใจเย็นๆนะคะทุกคน วันนี้ “ไทยแลนด์วัสดุ” จะมาไขข้อข้องใจให้กระจ่างแจ้งกันเป็นเรื่องๆไป ในแบบฉบับเข้าใจง่ายๆ อ่านแล้วไม่ต้องมานั่งแปลไทยเป็นไทย ใครไม่เข้าใจหรืออยากให้อธิบายเพิ่มเติมเรื่องไหน ยกมือถามเข้ามาได้เลยนะคะ


เรามาเริ่มกันที่เรื่องของ “ปูนซีเมนต์” กันก่อนเลย

 


ว่ากันด้วยเรื่องของ “ปูนซีเมนต์” ฉบับเข้าใจง่าย EP.1

ถ้าพูดถึงวัสดุที่ใช้ในงานก่อสร้าง “ปูนซีเมนต์” น่าจะเป็นสิ่งที่คนทั่วไปนึกถึงเป็นอันดับแรกๆ เลยก็ว่าได้ เพราะปูนซีเมนต์ถือเป็นองค์ประกอบหลักที่ต้องใช้ในงานโครงสร้างทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เสา คาน ผนัง หรือพื้น แต่ปูนซีเมนต์ในร้านวัสดุก่อสร้างทั่วไป มันมีเยอะแยะมากมาย หลากชนิด หลายยี่ห้อ แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่า ในแต่ละงานเราควรใช้ปูนซีเมนต์แบบไหน ยี่ห้ออะไร ใช้ปูนยังไง ให้เหมาะกับงาน

หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ “ปูนปอร์ตแลนด์” กันใช่มั้ยคะ เอ๊ะ!! มันคืออะไร ??

 

“ปูนปอร์ตแลนด์” เป็นปูนที่ใช้กับงานโครงสร้าง เช่น งานเทพื้น ทำเสา หรือคาน ถ้าจำชื่อไม่ได้ ให้เราจำ ป๊อด โมเดิร์นด๊อก ไว้ก็ได้นะคะ ชื่อจะคล้ายๆกัน 😅

 

                                 

ปูนชนิดนี้จะมีทั้งหมด 5 Type หรือ 5 ประเภท

แต่ที่ขายกันในร้านวัสดุก่อสร้างทั่วๆไป จะเป็นปูนปอร์ตแลนด์ Type 1 คือใช้ในงานก่อสร้างที่ต้องรับน้ำหนักเป็นหลัก

ส่วน Type อื่นๆมักจะใช้ในงานพิเศษ คำว่าพิเศษ ก็คือไม่ใช่ธรรมดาทั่วไป เราจึงไม่ต้องไปใส่ใจอะไรมากนัก เพราะไม่น่าจะเกี่ยวกับเราเท่าไหร่ และปูนพวกนี้ ตามท้องตลาดก็ไม่ค่อยมีขายด้วยค่ะ ต้องสั่งพิเศษเช่น ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ สำหรับการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น สร้างเขื่อนเก็บน้ำ กำแพงกันดิน สะพานท่าเรือ เป็นต้น

ตลาดวัสดุก่อสร้าง แบรนด์หลักๆ จะมีมากมายหลากหลายแบรนด์ อาทิ
– กลุ่มบริษัทในเครือซีเมนต์ไทย
– กลุ่มบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง
– กลุ่มบริษัททีพีไอโพลีน
– กลุ่มปูนซีเมนต์เอเชีย
– บริษัทชลประทานซีเมนต์
– บริษัทภูมิใจไทยซีเมนต์

ปูนซีเมนต์ แบรนด์หลักในท้องตลาด

และแต่ละแบรนด์ก็ยังจะแข่งกันออกปูนถุงมาขายกันอีกไม่รู้กี่ชนิด อย่างเครือซีเมนต์ไทย (SCG) ก็จะมีปูนตราช้างแดง ปูนตราช้างส้ม ปูนตราเสือ ปูนตราแรด

หรือกลุ่มปูนซีเมนต์นครหลวง ก็จะมีปูนเพชรพลัส ปูนอินทรีแดง ปูนอินทรีเขียว

คือแค่ 2 บริษัทนี้เราก็จำแทบไม่ไหวแล้วใช่มั้ยคะ

ถ้าไม่รู้ว่าจะเลือกแบรนด์ไหนดี เราสามารถขอคำแนะนำจากทางร้านนะคะ ว่าเขามีปูนปอร์ตแลนด์ยี่ห้ออะไรขายบ้าง อาจจะต้องคำนึงถึง งบประมาณที่เราตั้งไว้และแบรนด์ที่มีอยู่ในใจเราเป็นหลักค่ะ

เลือกยี่ห้อไหนก็ได้เหรอ..?

มันก็ไม่ถึงขนาดนั้นหรอกนะคะ แต่โดยปกติแล้วปูนซีเมนต์ถุงที่มีขายในท้องตลาด จะมี มอก. (มาตรฐานอุตสาหกรรม) รับรองทั้งหมดอยู่แล้วค่ะ ยิ่งแบรนด์หลักๆ ยิ่งหมดกังวลไปได้เลยนอกจาก มอก. เขายังมีทั้งฝ่ายเทคนิค ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ มาคอยแก้ปัญหา พัฒนาผลิตภัณฑ์ของเขาตลอดเวลา เพราะนิยามคำว่าดีของแต่ละคนก็คงจะไม่เหมือนกันใช่มั้ยล่ะคะ



บางคนบอกปูนที่ดี ต้องแห้งเร็ว ฉาบลื่น ไม่แตกร้าว บางคนบอกว่าปูนที่ดีก่อแล้วต้องเซ็ตตัวเร็ว หรือบางคนชอบปูนที่เหนียวเกาะตัวได้ดี ทั้งนี้และทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับช่างแต่ละคนด้วย ว่าจะใช้ส่วนผสมปูน อันได้แก่ หิน ทราย และ น้ำ ในอัตราส่วนที่เท่ากันหรือไม่ ถ้าอัตราส่วนไม่เท่ากัน ผลลัพธ์ยังไงก็ไม่เหมือนกัน ปูนอันไหนดี ส่วนนึงก็ขึ้นอยู่กับความคุ้นมือของช่างแต่ละคน

 

สรุปง่ายๆ คือปูนถุงในท้องตลาด จริงๆเราใช้ได้หมดทุกยี่ห้อ แตกต่างกันในส่วนผสม ความเข้มของปูน ส่วนตัวแปรที่สำคัญคือตัวผู้ใช้ คือช่างที่ผสมปูนค่ะ ถ้าช่างผสมปูนตามสูตรที่ใช้กันปกติ ยังไงก็ใช้งานได้แน่นอนค่ะ

เอาเป็นว่า พูดไปพูดมาชักจะเยอะ เดี๋ยวจะงงไปกันใหญ่ เราไปต่อกันใน EP. 2 ดีกว่านะคะ

เราจะไปทำความรู้จักเรื่องของปูนกันให้มากขึ้นอีกซักนิด ถึงประเภท และรูปแบบการใช้งานต่างๆ

สำหรับ EP. นี้ “ไทยแลนด์วัสดุ” ต้องขอลาไปก่อน

แล้วพบกันใหม่นะคะ บ๊ายบาย…


กาวติดเหล็ก 2 ตัน กาวอีพ็อกซี่ ใช้ง่ายแห้งไวภายใน 4 นาที

กาวติดเหล็ก 2 ตัน กาวอีพ็อกซี่ ใช้ง่ายแห้งไวภายใน 4 นาที

หลายๆ คนคงเคยมีปัญหาแบบนี้กันใช่ไหม สิ่งของในบ้านเกิดการแตกหัก หรือ เสียหาย ไม่ว่าจะเป็นปั๊มน้ำที่บ้านรั่ว ที่จับประตูหลุด ขาโต๊ะวางของหลุด พวกโมเดลแตกหัก เราเลยเกิดความคิดที่จะซ่อมมันเองมัน แต่เราจะซ่อมมันยังไงละ ผมขอแนะนำเป็นกาวตัวนี้เลยครับ

กาวอีพ็อกซี่ซิเมนต์เหล็ก ชนิดแห้งเร็วภายใน 4 นาที กาวติดเหล็กตัวนี้เป็นกาวที่เรียกได้ว่าใช้งานได้ทุกสภาพพื้นผิวไม่ว่าจะเป็น เหล็ก ทองแดง อะลูมิเนียม โลหะ และ อโลหะทุกชนิด คอนกรีต ไม้ พลาสติก กระเบื้อง คอนกรีต หินอ่อน ปูน แก้ว อิฐ ฯลฯ

มีคุณสมบัติในการปะติด เชื่อม และ อุด ในเนื้อกาวนี้จะมีผงโลหะที่ละเอียดผสมอยู่ด้วย เมื่อแห้งแล้วจะเหนียว แน่น แข็ง ทนทาน เหมือนเนื้อเหล็ก มีสีเทา เมื่อกาวแห้งแล้วสามารถ จะเจาะรู ทำเกลียว ตะไบ ขัดกระดาษทราย ทาสี หรือขัดแต่งได้ตามต้องการ  ตัวกาวสามารถ ทนความร้อน กันน้ำ และสารเคมีได้

และยังสามารถ เชื่อมรอยร้าวของฝาสูบ และ เสื้อสูบของเครื่องยนต์ได้ ใช้ทาเกลียวในการต่อท่อ และ ยังเหมาะสำหรับงานในโรงงานทั่วไป เช่น หล่อโลหะ เหล็กพรุน อะไหล่ รถยนต์ รถแทรกเตอร์  หรือ งานช่างซ่อมทุกประเภท ทั้งใช้เป็นฉนวนกันไฟฟ้าที่ดี

 

ลักษณะ ของกาวชนิดนี้ จะมีอยู่ด้วยกัน 2 หลอด คือ หลอด A  เมื่อบีบเนี้อครีมออกมาจะมีลักษณะข้นเหลวและมีสีเทาเข้มไปทางดำ

และ หลอด B เมื่อบีบเนื้อครีมออกมาจะมีลักษณะข้นกว่า หลอด A เล็กน้อยและมีสีขาวตัวนี้จะเป็นตัวที่ทําปฏิกิริยาให้กาวแข็งตัวเร็วขึ้นนั้นเอง

วิธีใช้

1. ทำความสะอาดวัสดุที่จะติดให้ไม่มีคราบน้ำมัน ฝุ่น หรือสนิมติดอยู่ ด้วยการใช้กระดาษทรายขัด ถู รอยที่จะประสาน

2. บีบน้ำยาจากทั้งหลอด A และ B ให้มีปริมาณเท่ากัน และผสมจนเป็นเนื้อเดียวกัน

3. ทากาวที่ผสมแล้วลงบนวัสดุที่จะติดตามต้องการ

4. ปล่อยให้กาวเซ็ตตัวดีแล้วจึงทำการขัดหรือตะไบตามต้องการ (ตัวกาวจะทำการเซ็ตตัวและแห้งตัวภายใน 4 นาที แต่จะรับน้ำหนักได้ดีที่สุดเมื่อผ่านไปแล้ว 1-2 ชั่วโมง

 

ตัวอย่างการใช้งานกาวติดเหล็ก 2 ตัน

 

ซ่อมปั๊มน้ำรั่ว

ปะรูรั่วหลังคารถ

ปะรูรั่วแคร้งแตกร้าวน้ำมันซึม

ซ่อมถังแรงดันน้ำรั่ว

ซ่อมบานพับประตูหลุด

เป็นยังไงบ้างครับวิธีการใช้งาน ง่ายมากเลยใช่ไหมครับ แต่ถ้ายังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับกาวตัวนี้ สามารถสอบถามกันเข้ามาได้ที่ LINE : @thailandwatsadu ของเราได้เลยครับเดี๋ยวจะมีพี่ๆแอดมินเข้ามาตอบคำถามทีเพื่อนๆสอบถามเข้ามานะครับ

สามารถดูการใช้งานเพิ่มเติมได้ที่คลิปวิดิโอด้านล่างนี้ได้เลยนะครับ เพื่อนๆคนไหนอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม ก็สามารถคอมเมนต์สอบถามเข้ามาที่ช่อง YouTube Thailand Watsadu ได้เลยนะครับ

กาวตะปู ติดแน่น แห้งไว ใช้แทนการตอกตะปู

กาวตะปู ติดแน่น แห้งไว ใช้แทนการตอกตะปู

กาวพลังตะปู หรือ กาวตะปู เป็นกาวหลอดสารพัดประโยชน์ สูตรน้ำมัน สำหรับติดวัสดุที่มีผิวมัน แห้งไว ใช้ยึดติดวัสดุต่างๆ แทนการตอกตะปู

สำหรับคนที่ไม่รู้จักกาวตัวนี้นะครับ และก็กำลังสงสัยว่ามันคือกาวอะไร ทำไมถึงไม่เคยได้ยินชื่อเหมือนพวก กาวร้อน กาวยาง หรือ กาวชนิดอื่นที่เราเคยเห็นตามท้องตลาด นั่นก็เพราะกาวตัวนี้เป็นกาวสำหรับงานก่อสร้างโดยเฉพาะนั่นเอง

ซึ่งกาวตัวนี้ เวลาที่นำไปติดหรือประสานรอยแตกแล้วไม่ต้องใช้การตอกตะปูช่วยเหมาะมากๆกับการที่เราอยากจะทำงาน DIY ง่ายๆสักชิ้น โดยที่เราไม่ต้องใช้การตอกตะปูเป็นตัวช่วยในการยึดเลยแม้แต่ตัวเดียว

 

พื้นผิวที่กาวตะปูสามารถใช้ติดวัสดุได้ มีหลากหลายชนิด เช่น ไม้ กระเบื้องเซรามิค กระเบื้องใยหิน ผนังยิปซั่ม แก้ว โลหะ  และพลาสติกหลากชนิด แต่ไม่แนะนำให้ใช้กับ โฟม หรือ กระจกเงา เพราะจะทำให้ตัวกาวไปกัดผิวกระจก หรือโฟมจนเกิดความเสียหายนั้นเอง

กาวตะปูตัวนี้จะมีลักษณะเป็นของเหลวเหนียวข้น แบบเดียวกับเนื้อซิลิโคนแต่จะมีความเหลวกว่าเล็กน้อย และ ตัวเนื้อกาวจะเป็นสีน้ำตาล กาวตะปูตัวนี้ ถ้าเรายังไม่ได้ใช้งานเราสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 2 ปี

โดยผลิตภัณฑ์ตัวนี้จะบรรจุมาในปริมาตร 300 มล. ทำให้เราสามารถใช้งานแบบยิงลากยาวได้ยาวถึง 10 เมตร เลยทีเดียว และ ตัวกาวเมื่อแห้งแล้วจะรับน้ำหนักได้ดีภายใน 24 ชั่วโมง และจะรับน้ำหนักได้สมบูรณ์แบบหลังจาก 72 ชั่วโมงแล้ว

 

คุณสมบัติ

มีความยึดติดสูง ใช้แทนการตอกตะปู ยึดติดได้ดีกับวัสดุหลายประเภทโดยเฉพาะวัสดุผิวมัน

ไม่หลุดร่อนง่าย ใช้ได้กับทุกพื้นผิว

ทนทานต่อ รังสี UV ใช้ได้ในทุกสภาพอากาศ

เหมาะสำหรับติดวัสดุ บุฝ้าผนังในงานก่อสร้างทั่วไป

เหมาะสำหรับใช้ทั้งงานภายในและภายนอก

 

 

 

วิธีใช้งาน

1. ผิววัสดุที่จะติดกาวควรแห้งสะอาด ปราศจากไขมัน ถ้ามีสีเก่าควรทำการขูดออกให้หมด

2. ตัดจุกกาวแล้วใช้วัสดุปลายแหลมเจาะแผ่นอลูมิเนียมที่อยู่ด้านในจุกกาว

3. ใช้ปืนยิงกาวสำหรับการนำตัวเนื้อกาวออกมาติดกับวัสดุที่ต้องการ สามารถทำได้ทั้งแบบเป็นจุดเดียวสำหรับงานชิ้นเล็ก และแบบเป็นคลื่นสำหรับงานชิ้นใหญ่และต้องการพื้นที่ในการยึดเกาะมาก

4. เมื่อประกบชิ้นงานกับพื้นผิวที่ต้องการแล้ว ควรดึงชิ้นงานออกมา 1-2 ครั้งให้สารเคมี หรือ ทินเนอร์ ระเหยออกจากตัวกาว และนำมาประกบใหม่เพื่อทำให้กาวแห้งและยึดติดได้เร็วขึ้น

 

วิธีการยิง มีอยู่3วิธีคือ

ยิงแบบเป็นจุด ใช้กับงานที่มีพื้นผิวขรุขระ

ยิงแล้วซิกแซก ใช้กับงานที่มีหน้าสัมผัสกว้าง

ยิงแบบเส้นตรง ใช้กับงานที่เป็นแถบยาวๆ 

 

ข้อควรระวัง

ห้ามเก็บในที่ ที่มีอุณหภูมิสูง

ควรเก็บให้พ้นมือเด็ก

ระวังอย่าสูดดมสารระเหย

 

การทำความสะอาด

กาวที่ยังไม่แห้งจะสามารถเช็ดออกได้ด้วยทินเนอร์ หรือการขูดออกด้วยเกรียงโป๊ว

กาวที่แห้งสนิทแล้วจะสามารถขูดออกได้ด้วยเกียงโป๊วและขัดออกได้ด้วยกระดาษทราย

 

 

การเก็บรักษา

ถ้าเราใช้กาวไม่หมด เราสามารถเก็บกาวตัวนี้ไว้ใช้ในครั้งต่อไป ด้วยการนำพลาสติกเล็กๆมาปิดที่ส่วนหัวของกาว แล้วใช้หัวจุกที่เรายิงก่อนหน้านี้หมุนเกลียวทับไปอีกครั้งเป็นอันเสร็จสิ้น

 

ลอกสีเก่า ทาสีใหม่ ด้วย...น้ำยาลอกสี

ลอกสีเก่า ทาสีใหม่ ด้วย…น้ำยาลอกสี

 

ใครที่ต้องการลอกสีเก่า เพื่อทาสีใหม่ ลอกสีรถยนต์ ลอกสีจักรยาน มอร์เตอร์ไซค์ ผนังปูน รั้วบ้าน งานไม้ งานกระจก ลอกสีเหล็ก สแตนเลส พลาสติก PVC
ไทยแลนด์วัสดุ เราเอาน้ำยาลอกสี มาทดสอบการใช้งานให้ดูกันครับ

น้ำยาลอกสี   เป็นน้ำยาสีใส ซึ่งไม่มีส่วนผสมของกรดโซเดียม หรือ โปตัสเซียมไฮดรอกไซต์ ที่ทำไห้ติดไฟ ตัวน้ำยาลอกสี มีประสิทธิภาพสูงในการลอกสีโดยไม่ทำให้เกิดการเสียหายของพื้นผิววัสดุ สามารถลอกได้กับพื้นผิวที่เป็น โลหะ, ไม้, คอนกรีต, แก้ว, พลาสติก , PVC , กระจก
พื้นผิวที่ห้ามใช้น้ำยาลอกสีเลยก็คือ แผ่นอะคริลิค และ โฟม  เพราะจะทำให้พื้นผิวเสียหายหรือเกิดการละลายตัวนั่นเอง ตัวน้ำยาลอกสีสามารถลอกได้กับสีเคลือบชนิดต่าง ๆ เช่น สีโพลียูรีเทน สีเคลือบอีพ๊อกซี่ สีเคลือบอะคริลิค สีน้ำมันเคลือบเงา น้ำมันวาร์นิช แลกเกอร์ สีพ่นอุตสาหกรรม ฯลฯ

 

ลักษณะการใช้งาน
1. ควรใช้ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
2. ตัวน้ำยาลอกสีเปิดแล้วใช้ใด้ทันที โดยไม่ต้องผสมสารชนิดอื่นเพิ่มเติม
3. ทา
น้ำยาลอกสี บนผิวสีที่ต้องการจะลอกทิ้งไว้ เช่น กล่องไม้ หรือ โลหะ
4. ทิ้งไว้ 3-5 นาที ให้สีนั้นพอง หรือ นิ่มแล้วใช้เกียงโป๊ว หรือ แปลงขูดปัด ลอกสีเก่าออกให้สะอาด
5. ทำความสะอา
ดพื้นผิวที่ต้องการจะทาสีใหม่ด้วย น้ำ ทินเนอร์ หรือ น้ำมันสน เพื่อขจัดคราบน้ำยาลอกสีออกให้สะอาด เพื่อทำการลงสีใหม่ต่อไป

 

อุปกรณ์เบื้องต้นที่ต้องมี
1. ถุงมือยาง
2. แว่นตา กันน้ำยากระเด็นเข้าตา
3. หน้ากากผ้าปิดจมูก
4. ถาดสำหรับวางชิ้นงาน
5. เกียง 
6. แปรงทาสี 
7. กระบอก หรือ ภาชนะ ที่ไว้เทน้ำยาลอกสี
8. คีม ไว้ใช้หยิบสิ่งของที่จุ่มอยู่ในน้ำยาลอกสี

 

ตัวอย่างการลอกสี แบบ DIY ง่ายๆทำได้ด้วยตัวเอง

 

ลอกสีฝาครอบแคร้งรถมอเตอร์ไซค์          ลอกสีประตูไม้
ลอกสีกำแพงปูน ลอกสีรั้วบ้าน

ข้อควรระวัง
1. น้ำยาในกระป๋องมีแรงดัน ห้ามเขย่ากระป๋อง
2. ควรเจาะฝาในให้มีรูเล็กๆก่อนเปิด ใช้งานเพื่อลดแรงดันในกระป๋อง และ ปิดฝาให้สนิททุกครั้งหลังใช้งาน
3. น้ำยามีฤทธิ์ระคายเคือง ควรหลีกเลี่ยงการสูดดม
4. ป้องกันการกระเด็นเข้าตา และ ถูกผิวหนัง ขณะใช้งาน เพราะจะทำให้น้ำยากัดผิวหนัง จึงต้องสวมแว่นตา ถุงมือยางและผ้าปิดจมูกเพื่อกันสารเคมี
5. ควรเก็บกระป๋องน้ำยาลอกสีในที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
6. ภายหลังการใช้งานต้องล้างมือ และ อุปกรณ์ด้วยน้ำสบู่ ตามด้วยน้ำสะอาด

สามารถดูการใช้งานเพิ่มเติมได้ที่คลิปวิดิโอด้านล่างนี้ได้เลยนะครับ เพื่อนๆคนไหนอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม ก็สามารถคอมเมนต์สอบถามเข้ามาที่ช่อง YouTube Thailand Watsadu ได้เลยนะครับ

 

 กาวยาง - ซ่อมงาน หนัง PVC ไม้ พลาสติก แผ่นโฟเมก้า

 กาวยาง – ซ่อมงาน หนัง PVC ไม้ พลาสติก แผ่นโฟเมก้า

 

กาวยาง หรือ กาวยางสังเคราะห์ชนิดพิเศษ เป็นกาวยางที่มีสารเรซินผสม ซึ่งจะให้ ความแข็ง ความเหนียว มากกว่ากาวยางชนิดอื่นๆ

โดยกาวยางตัวนี้จะมีคุณสมบัติในการติดทั้ง งานหนัง งานไม้ งานพลาสติก งานปูน หรือ งานโฟเมก้า 

และยังสามารถใช้ในงานซ่อมแซ่มได้อีกด้วยเช่น งานซ่อมกระเบื้องยางที่หลุดร่อน งานปูหญ้าเทียม งานหุ้มหนังเบาะรถ หรือแม้แต่สายกระเป๋าหนังที่หลุด ก็สามารถนำกาวยางตัวนี้มาซ่อมแซ่มได้

วัสดุที่เหมาะกับการใช้งาน : หนัง , หนังเทียม , ยาง , ผ้าใบ , PVC , พรม , พลาสติก , งานไม้ , ไม้อัด , ไฟเบอร์

ลักษณะของกาวยาง  จะมีเนื้อกาวเหลว สีเหลืองใส (แต่ไม่เหลวเท่ากาวร้อน) มีความหนืดตัวสูง และมีกลิ่นค่อนข้างฉุนแรง เนื่องจากกาวยางมีส่วนผสมหลัก คือ ยางและทินเนอร์ เป็นตัวทำละลาย

วิธีใช้งาน

1. ทำความสะอาดพื้นผิวของวัสดุที่เราจะนำมาใช้งาน หรือวัสดุที่เราจะนำมาติดกาวให้ไม่มีความมัน หรือฝุ่นติดเพื่อทำให้กาวยึดติดได้ดียิ่งขึ้น

2. ทากาวพอสมควรบนผิววัสดุที่ต้องการ ติดทั้งสองด้านทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที

3. นำวัสดุมาประกบติดกัน ทิ้งไว้สักครู่ หรือทุบเบาๆ จะทำให้ติดแน่นยิ่งขึ้น

 

ข้อควรระวังและวิธีการเก็บรักษา

1. เนื่องจากเป็นวัตถุไวไฟ และเป็นสารระเหย ควรเก็บไว้ในที่ที่มีอากาศถ่ายเท

2. เก็บไว้ให้ห่างจากความร้อน และเปลวไฟ ห่างจากมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง

3. ไม่ควรสูดดม ระหว่างใช้งานกาวยางควรใส่ผ้าปิดจมูกเพื่อป้องกันสารระเหยที่อยู่ในตัวกาวยางด้วย

 

 

 

กาวมหาอุด ซ่อมครอบจักรวาร - (กาวดินน้ำมัน)

กาวมหาอุด ซ่อมครอบจักรวาร – (กาวดินน้ำมัน)

 

กาวมหาอุด 2 ตัน เป็นกาวอีพ๊อกซี่ชนิดแท่งดินน้ำมันสารพัดประโยชน์ ใช้สำหรับ ติด ปะ อุด เชี่อม ประสาน ยาแนวหรือผนึกรอยร้าว รูรั่ว ของวัสดุทุกชนิด

ตัวกาวอีพ๊อกซี่จะมีด้วยกันอยู่ 2 ชิ้น คือเนื้อ A และ B เนื้อ A สีขาวที่เป็น Resin และ เนื้อ B สีครีมที่เป็น Hardener

ใช้ได้ทั้งในขณะที่วัสดุเปียก แห้ง หรืออยู่ใต้น้ำก็ได้ และยังสามารถปั้นเสริมแต่งเนื้อของวัสดุที่แตกหัก ปะรอยรั่วของตู้ปลา ปะซ่อมเฟอร์นิเจอร์

กาวอีพ๊อกซี่ยังเป็นฉนวนกันไฟฟ้าได้ดีอีกด้วย กาวอีพ๊อกซี่ยังสามารถติดยึดเกาะโลหะทุกชนิด เช่น เหล็ก ดีบุก ทองเหลือง อลูมิเนียม สังกะสี อิฐ หิน ปูน คอนกรีต กระจก พลาสติก กระเบื้องเซรามิค ไม้ ไฟเบอร์กลาส

ตัวกาวยังมีคุณสมบัติกันน้ำ น้ำมัน เคมี แก๊ส เมื่อแห้งแล้วจะแข็ง เหนียว ทนทานเหมือนเนี้อเหล็ก จะเจาะรู ทำเกลียว กลึง เลื่อย เจียรแต่ง ทาสีและขัดกระดาษทรายได้

เหมาะสำหรับงานอุด ติดซ่อมรอยแตก รูรั่วของท่อ ข้อต่อแท้งก์น้ำ บ่อน้ำ ใช้อุดปะไม้หรือเหล็กที่ชำรุด ซ่อมรอยแตกร้าวของอาคารคอนกรีต ห้องน้ำ เครื่องสุขภัณฑ์ และยังสามารถใช้แทนสีโป้วได้ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับงานซ่อมที่เร่งด่วนใช้ได้ทันทีทุกสถานการณ์

 

คุณสมบัติ  เหมือนซิลิโคนทั่วไป แต่ยึดติดได้แน่นกว่า สามารถใช้ได้กับพื้นผิวที่เปียกชื้น และ ติดงานที่อยู่ใต้น้ำได้ สามารถแห้งได้แม้อยู่ใต้น้ำ

เมื่อกาวติดกับชิ้นงานแล้วสามารถปรับแต่งเพิ่มเต็มได้ตามต้องการในขณะที่ยังไม่แห้งตัว

ทนต่อแรงดันน้ำ ความร้อน สารเคมี น้ำมัน และใช้เป็นฉนวนกันไฟฟ้าได้ดี ตัวเนื้อจะเป็นเหมือนดินน้ำมันสามารถปั้นและตกแต่งได้ตามต้องการ 

วิธีใช้งาน

1. ทำความสะอาดวัสดุที่จะติด อย่าให้มีฝุ่น สนิม และน้ำมัน เคมีติดอยู่ควรใช้กระดาษทรายชัดถูผิววัสดุ

2. ตัดแบ่งแท่งกาว A และ B ให้มีปริมาณอย่างละเท่าๆกัน นวดปั้นผสมกาวให้เข้ากันเป็นสีเดียวกันอาจหยดน้ำ 1-2 หยด ผสมเพื่อไม่ให้กาวติดมือ

3. นำกาวไปติด อุด หรือปะซ่อมได้ตามต้องการ เมื่อต้องการให้พื้นผิวเรียบ สามารถใช้น้ำลูบแต่งผิวได้

4. ผิวกาวจะแห้งภายใน ครึ่งชั่วโมง ก่อนกาวแห้งสามารถพอก เสริม ปั้นให้เข้าเป็นรูปตามต้องการ กาวนี้สามารถแห้งติดวัสดุได้แม้อยู่ในน้ำ หรือผิววัสดุเปียกชื้น

5. หลังจากใช้ ให้ห่อปิดแท่งกาวให้มิดชิด อย่าให้ผิวถูกอากาศ เพื่อใช้งานในครั้งต่อไป

 

ท่อ PVC แต่ละสีมีความแตกต่างกันยังไง

ท่อ PVC แต่ละสีมีความแตกต่างกันยังไง

 

ทุกคนเคยสงสัยกันบ้างไหมครับว่าท่อพีวีซีที่เราเห็นอยู่ทั้วไปตามร้านวัสดุก่อสร้าง ทำไมมันถึงมีหลายสีจังแล้วความแตกต่างของท่อแต่ละสีมันต่างกันยังไงวันนี้เราจะไปเรียนรู้พร้อมกันครับ

ท่อพีวีซีที่เราเห็นกันอยู่หลักๆแล้วจะมีด้วยกันอยู่ 4 สี คือ สีฟ้า สีเหลือง สีขาว และ สีเทา และแน่นอนครับว่าสีของท่อก็จะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันและมีจุดประสงค์ที่ชัดเจน ไม่ได้มีสีไว้เพื่อความสวยงามอย่างที่ทุกคนคิดนะครับ เรามาเริ่มกันที่ตัวแรกเลย

 

ท่อพีวีซี “สีฟ้า” ตามมาตรฐาน มอก. 17-2532 ท่อตัวนี้จะเป็นท่อที่เราพบเห็นกันได้บ่อยและมากที่สุด  ท่อชนิดนี้ถูกผลิตมาเพื่อใช้ลำเลียงน้ำดี หรือ น้ำที่ใช้ในการอุปโภคและบริโภคนั้นเอง

 

ท่อพีวีซี “สีเหลือง” ตามมาตรฐาน มอก. 216-2524 เป็นท่อพีวีซีแข็งสำหรับใช้ร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์เพราะเป็นฉนวนไฟฟ้าไม่ขึ้นสนิมและไม่ลามไฟ

 

ภาพประกอบการเดินร้อยสายไฟด้วยท่อ PVC สีเหลือง

 

ท่อพีวีซี “สีเทา” ตามมาตรฐาน มอก. 999-2533 เป็นท่อพีวีซีแข็งใช้สำหรับงานอุตสาหกรรม ชลประทาน กำหนดชั้นคุณภาพเช่นเดียวกับท่อพีวีซีสีฟ้า แต่มีเพิ่มชั้นคุณภาพ พีวีซี 0 เข้าไปด้วยใช้เป็นท่อไม่รับความดัน 

อีกประเภทหนึ่งผลิตตามมาตรฐานของผู้ผลิดเองมีวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้งานด้านการเกษตร หรือท่อระบายน้ำทิ้งเพราะทนต่อแรงดันได้น้อยนั้นเอง

รูปภาพประกอบการเดินท่อน้ำทิ้งแอร์ด้วยท่อ PVC สีเทา

 

ท่อพีวีซี “ขาว” ท่อตัวนี้ยังไม่มี มอก. รับรองผลิตขึ้นตามมาตรฐานของผู้ผลิตเองเหมาะกับการใช้เป็นท่อร้อยสายไฟ หรือสายโทรศัพท์แบบลอยและเพราะตัวท่อเป็นสีขาวทำให้กลมกลืนกับผนังทุกสี หรือสามารถทาสีทับก็ได้

 

ภาพประกอบการเดินร้อยสายไฟด้วยท่อ PVC สีขาว

 

และทุกคนคงจะสงสัยกันใช้ไหมครับว่า มอก. ที่อยู่ที่ตัวท่อและมีตัวเลขบอก มันคืออะไรถ้าทุกคนสงสัยผมจะอธิบายให้ฟัง

มอก. ย่อมาจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นั้นเอง ส่วนตัวเลขที่ต่อท้ายตัวย่อมา เช่น มอก. 17-2535 หรือ มอก. 216-2524  นั้น ตัวเลขชุดแรกคือ ลำดับที่ในการออกเลข มอก. ส่วนชุดตัวเลขถัดมาคือ ปี พ.ศ. ที่ออกเลขนั้นเองครับ 

ความหนาของท่อ กำหนดตาม ชั้น หรือ Class คือ พีวีซี 5 , 8.5 และ 13.5 ถ้าให้อธิบายกันง่ายๆเลยคือยิ่งตัวเลขมาก ท่อก็จะยิ่งรับแรงดันน้ำได้มากขึ้น

 

ตัวอย่างเช่น

PVC 5 จะรับแรงดันน้ำได้ 5 บาร์ ใช้สำหรับงานที่ไม่รับแรงดันน้ำมากๆ เช่น ช้เป็นท่อน้ำทิ้งนั้นเอง

PVC 8.5 จะรับแรงดันน้ำได้ 8.5 บาร์ จะเป็นขนาดที่นิยมใช้ภายในบ้านรับความดันน้ำ หรือ แรงดันน้ำได้ดี จะนิยมใช้กับพวกก๊อกน้ำภายใน และ ภายนอกตัวบ้าน เช่น ก๊อกอ่างน้ำหรือก๊อกของซิงค์ล้างจานเป็นต้น หรือจะต่อกับอุปกรณ์ไฟฟ้าก็ได้ เช่นพวกเครื่องทำน้ำอุ่น

PVC 13.5 จะรับแรงดันน้ำได้ 13.5 บาร์ จะนิยมใช้สำหรับตึกหรืออาคารที่สูง ๆ เพราะตึกและอาคารที่สูงจะต้องใช้เครื่องสูบน้ำหรือเครื่องปั้มน้ำที่มีแรงดันน้ำมากๆเพื่อส่งน้ำไปยังชั้นต่างๆของอาคารนั้นเอง

รูปภาพประกอบการใช้ท่อ Class 13.5 หรือ ท่อที่รับแรงดัน 13.5 บาร์ ท่อที่รับแรงดันจากเครื่องปั๊มน้ำเพื่อส่งไปยังพื้นที่ที่ต้องการใช้งาน

 

          

อิฐมอญ / อิฐบล็อก / อิฐมวลเบา มีความแตกต่างกันอย่างไร

 

อิฐมอญ / อิฐบล็อก / อิฐมวลเบา มีความแตกต่างกันอย่างไร

 

หลายๆคนคงเคยเจอกับทำถามของช่างที่ทำบ้านใช่ไหมครับว่าลูกค้าจะใช้เป็นอิฐตัวไหนทำกำแพงหรือผนังบ้าน แน่นอนครับว่าเจ้าของบ้านแบบเราไม่ค่อยมีความรู้กับเรื่องพวกนี้สักเท่าไหร่ งั้นเรามาดูกันว่าอิฐแต่ล่ะชนิดมีความแตกต่างกันอย่างไร และมีข้อดีและข้อเสียอะไรบ้าง

 

อิฐมอญ  หลายคนคงเคยเห็นผ่านตากันมาบ้าง มันคือ อิฐที่บ้านเราสามารถผลิตกันเองได้ ทำมาจากดินเหนียว มีลักษณ์โดดเด่นเลยคือเป็น สีแดง หรือ สีส้มอิฐ เหมาะนำมาใช้กับ งานผนังบ้าน และ งานกำแพงภายนอกนั้นเอง 

จุดเด่น  มีคุณสมบัติพิเศษที่ความคงทนต่อสภาพอากาศที่ร้อนและชื้นของประเทศไทย ทนแดด ทนฝน ได้ดี จึงทำให้เป็นที่นิยม ข้อดีอีกอย่างที่มีของตัวอิฐมอญเลยคือราคาที่ถูกนั้นเอง

จุดด้อย  คือ มีน้ำหนังที่คอนข้างมาก นำมาใช้งานยาก เพราะการผลิตวัสดุไม่ได้มีมาตรฐาน รวมไปถึงการทำผนังบ้านด้วยอิฐมอญ อาจจะทำให้ภายในตัวบ้านร้อนขึ้นด้วย เพราะอิฐมอน เป็นวัสดุที่สะสมความร้อน และจะถ่ายเทความร้อนออกมายังพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า ทำให้ห้องต่างๆภายในบ้านเกิดความร้อนสะสมนั้นเอง

 

อิฐบล็อก หรือ คอนกรีตบล็อก   อิฐตัวนี้ถูกผลิตมาเพื่อใช้งานลักษณะอุตสาหกรรมมากกว่า อิฐมอญ ส่วนใหญ่จะเป็น สีเทา ลักษณะเด่นคือมีรูตรงกลาง เพื่อช่วยลดการถ่ายเทความร้อนได้ดีกว่าอิฐมอญ ตัวอิฐบล็อคจะเหมาะสมกับ งานก่อผนังอาคารทั่วไป  และได้รับความนิยมมากกว่าอิฐมอญ

จุดเด่น  มีราคาถูกมาก เมื่อเทียบกับอิฐชนิดอื่นๆ สะดวกในการก่อสร้าง งานเสร็จรวดเร็วกว่า เพราะมีขนาดก้อนที่ใหญ่ และ ระบายความร้อนได้ดีกว่าตัวอิฐมอญ

จุดด้อย   คือตัวบล็อคจะรับแรงกดได้น้อยกว่า ประเภทอื่นๆ รวมถึงรับน้ำหนักจากการแขวนมากๆไม่ได้ ไม่เหมาะกับการเจาะผนังเพื่อยึดติดอุปกรณ์ต่างๆที่มีน้ำหนักมาก เพราะเปราะง่าย

 

อิฐมวลเบา หรือ คอนกรีตมวลเบา   อิฐตัวนี้ถือเป็นวัสดุก่อสร้างที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน มีขนาดก้อนที่ใหญ่กว่าอิฐชนิดอื่น เหมาะกับการก่อสร้างในส่วนผนังหลักของบ้าน อาคาร หรือ ห้องที่ต้องการความเย็นสบาย และ เก็บเสียงได้ดี เช่น ห้องนอน นั้นเอง

จุดเด่น  ทนทานต่อไฟ แข็งแรง รับแรงกดได้มาก สะดวกในการก่อสร้าง น้ำหนักเบา และ ไม่ดูดซับความร้อนทำให้ภายในห้องต่างๆเย็นสบาย เก็บเสียงได้ดี 

จุดด้อย คือ อิฐมวลเบาจะมีราคาที่คอนข้างสูงกว่าอิฐชนิดอื่นๆ

 

อิฐช่องลม หรือ บล็อกช่องลม  หลายคนคงเคยเห็นผ่านตามาบ้าง ตามรั่วบ้าน หรือ กำแพงบ้าน ในปัจจุบันมีการนำ บล็อกช่องลม หรือ อิฐช่องลม กลับมาใช้งานแพร่หลายมากขึ้น ด้วยรูปแบบและหน้าตาของบล็อกช่องลมที่ดูโมเดิร์น และ เหมาะกับยุดสมัยเรามากขึ้น ทำให้เราสามารถนำไปประยุคต์ใช้กับพื้นที่ต่างๆ ภายในบ้านได้หลากหลายความต้องการมากขึ้น

จุดเด่น  ถ่ายเทอากาศได้ดี เหมาะกับสภาพอากาศร้อนขื้นของบ้านเรา แสงธรรมชาติสามรถผ่านเข้าได้ เป็นอีก 1 ทางเลือกในการประหยัดพลังงาน และยัง ป้องกันแดด -ฝน ได้เหมาะสำหรับใช้ในพื้นที่กึ่ง outdoor 

จุดด้อย  เศษฝุ่นที่ค่อย ๆ สะสม หากไม่ดูแลเรื่องความสะอาด อาจทำให้ดูไม่สวยงามในอนาคตได้

 

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า